ฟันคุด

ฟันคุด

สำหรับคนที่เป็นฟันคุดนั้น หากฟันคุดไม่ออกอาการใด ๆ ก็คงจะไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาสักเท่าไร แต่ถ้าฟันคุดออกอาการเมื่อไร เชื่อว่าหลายคนคงจะไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้ ยิ่งถ้ามีอาการรุนแรง จนเกิดการติดเชื้อในช่องปากหรือลุกลามไปจนติดเชื้อบริเวณใบหน้าและลำคอ แบบนี้ก็ต้องบอกว่าอันตรายมากจนถึงต้องนอนโรงพยาบาลกันเลยทีเดียว

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว คุณควรรีบไปปรึกษาทันตแพทย์ อย่าปล่อยทิ้งไว้นานหากพบอาการที่บ่งบอกดังนี้ ปวด บวมบริเวณฟันคุด หรือบวมแดงบริเวณเหงือกรอบฟันคุด มีกลิ่นปาก อ้าปากได้น้อย แก้มหรือใบหน้าบวม กลืนน้ำลายได้ลำบาก เวลากลืนจะเจ็บคอ มีไข้ เป็นต้น หากคุณละเลยไม่ใส่ใจปล่อยทิ้งไว้นานเกิน อาจกลายเป็นหนองหรือติดเชื้อลามเข้าใบหน้า ลำคอ ช่องว่างเนื้อเยื่อในลำคอ จะทำให้หายใจลำบากได้ จะเห็นได้ว่าอาการดังกล่าวค่อนข้างรุนแรงและเป็นอันตรายทีเดียว หลายคนไปซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง ขอบอกว่าเสี่ยงมากเพราะอาจได้รับยาหรือปริมาณที่ไม่ถูกต้องได้ ทางที่ดีควรปรึกษาทันตแพทย์จะดีกว่า

 

วิธีการรักษาฟันคุด

โดยส่วนใหญ่แล้วทันตแพทย์จะทำการถอนหรือผ่าฟันคุดออกให้ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาวะการติดเชื้อในขณะนั้นด้วย หากมีอาการบวมแดงของเหงือกมากและอ้าปากไม่ค่อยได้ ทันตแพทย์อาจต้องให้ยาปฏิชีวนะรักษาและบรรเทาอาการก่อน พร้อมทั้งแนะนำให้พยายามทำความสะอาดบริเวณดังกล่าวด้วย เมื่ออาการดีขึ้นถึงจะผ่าฟันคุดออกได้ แต่ถ้าอาการไม่รุนแรงมากนัก คุณหมอสามารถผ่าฟันคุดได้ทันที ในบางกรณีอาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะหลังการผ่าตัดร่วมด้วย  ในกรณีที่มีการบวมลุกลามหรือมีหนองสะสม อาจต้องทำการเปิดระบายหนอง ซึ่งขึ้นกับดุลยพินิจของทันตแพทย์ หลังจากผ่าตัดฟันคุดแล้วควรกินยาตามที่ทันตแพทย์แนะนำ ควรบ้วนปากและแปรงฟันให้สะอาดและกลับไปพบทันตแพทย์ตามนัด

 

ฟันคุดนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพในช่องปาก

เมื่อคุณมีฟันคุด ย่อมส่งผลต่อสุขภาพในช่องปากโดยตรง ซึ่งล้วนแต่สร้างความเจ็บปวดและความไม่สบายในช่องปากเป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถจำแนกปัญหาที่เกิดจากฟันคุดได้ดังนี้

 

1.มีอาการปวดฟันคุด

ที่คุณรู้สึกปวดมาก ๆ นั้น เป็นเพราะตัวฟันคุดจะมีแรงผลักเพื่อจะงอกขึ้นมาในขากรรไกร โดยไม่สามารถขึ้นมาโดยสะดวก กลับถูกกันหรือติดฟันข้างเคียง ส่งผลให้คุณรู้สึกปวด นอกจากนี้ยังส่งผลไปยังบริเวณอื่นด้วย เช่น ปวดหน้าหู ปวดตา ปวดศีรษะ อีกด้วย

 

2.ทำให้ฟันเก

ด้วยแรงดันของฟันคุดขณะถึงเวลาขึ้นในช่องปาก(กำลังสร้างรากฟัน) อาจจะมีการผลักให้ฟันข้างเคียงได้รับผลกระทบต่อ ๆ กัน จนอาจทำให้ฟันบิดซ้อนได้ สำหรับคนที่จัดฟันทันตแพทย์มักจะแนะนำให้ถอนฟันคุดออกก่อนที่จะใส่เครื่องมือลงไป

 

3.ฟันคุดเป็นสาเหตุให้ฟันผุ

เนื่องจากฟันคุดที่ขึ้นได้บางส่วน จะเป็นที่กักเศษอาหารได้เป็นอย่างดี จึงทำให้การทำความสะอาดเป็นไปได้ยากเพราะอยู่ลึก ซึ่งการมีเศษอาหารสะสมเป็นเวลานานจึงเป็นต้นเหตุของฟันผุและก็พลอยทำให้ฟันดี ๆ ที่อยู่ข้างเคียงผุไปด้วย จนไม่สามารถรักษาได้โดยอาจจะต้องถูกถอนออกพร้อมฟันคุด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

 

4.เหงือกอักเสบเพราะฟันคุด

เหงือกอักเสบและบวมเกิดจากการที่มีเศษอาหารตกค้างที่ใต้เหงือก หากทำความสะอาดได้ไม่ดีพอก็จะเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย ซึ่งทำให้เกิดอาการเหงือกอักเสบและบวมเป็นหนองได้

 

5.เกิดการติดเชื้อจากฟันคุด

การติดเชื้อที่เกิดจากฟันคุดเป็นสิ่งที่ควรตระหนักเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เหงือกบวมจากการติดเชื้อ ถ้าปล่อยให้รุนแรงโดยไม่ได้ทำการรักษา อาจจะทำให้บวมจนอ้าปากไม่ขึ้น กลืนน้ำลายไม่ลง และอาจลุกลามลงคอทำให้หายใจลำบากหรือหายใจไม่ได้ ในกรณีที่เกิดปัญหาต่อทางเดินหายใจแบบนี้ ต้องรีบไปโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วนเพราะค่อนข้างอันตรายถึงชีวิตได้

 

6.ฟันคุดทำให้เกิดถุงน้ำ

มีโอกาสเกิดถุงน้ำในกรณีฟันคุด ที่ไม่สามารถขึ้นมาในช่องปากได้ ถุงน้ำอาจจะขยายอยู่ในกระดูกขากรรไกร อาจมารู้ตัวอีกทีก็พบว่ามีใบหน้าเอียงหรือขากรรไกรข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้างหนึ่งแล้ว  การมีถุงน้ำบางชนิดอยู่ในขากรรไกรมันจะค่อยๆ พองใหญ่ขึ้นและเบียดกินกระดูกขากรรไกรไปเรื่อย ๆ จึงต้องทำการผ่าตัดถุงน้ำออก แต่ถ้าถุงน้ำมีขนาดใหญ่มาก อาจต้องตัดขากรรไกรบางส่วนออก ในกรณีที่ถุงน้ำเปลี่ยนไปเป็นเนื้องอกบางชนิด การที่จะรักษารูปหน้าให้เหมือนเดิมก็ทำได้ยากยิ่ง

 

ไม่ใช่เรื่องที่จะนิ่งดูดายเลยสำหรับคนที่เป็นฟันคุด เพราะส่งผลต่อสุขภาพในช่องปากอย่างสาหัสทีเดียวหากปล่อยทิ้งไว้ ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาสุขภาพในช่องปากของตนในเรื่องที่เกี่ยวกับฟันคุด หากพบว่าตนเองมีอาการอันเนื่องมาจากฟันคุดดังกล่าว ก็ควรรีบพาตนเองไปหาทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด จะได้รักษาได้ทันท่วงที แต่ถ้าหากคิดว่าตนเองทนได้และหาซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง นั่นเป็นการเสี่ยงมาก เพราะปริมาณยาและตัวยาอาจต้องได้รับคำแนะนำจากทันตแพทย์โดยตรง

 

อยากมีสุขภาพในช่องปากที่แข็งแรงตลอดไปก็อย่าลืมไปตรวจฟันคุดและปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์โดยเคร่งครัดนะคะ

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ย้อนกลับด้านบน