รักษารากฟัน

รักษารากฟัน

เมื่อพูดถึงการทำฟันแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรกับฟันก็ตามส่วนใหญ่แล้วคนเราจะรู้สึกกลัว ยิ่งคนที่คุณหมอบอกว่าต้องรักษารากฟันด้วยแล้ว ก็ให้รู้สึกกลัวเจ็บไปก่อนเพราะไม่เคย ความจริงแล้วการรักษารากฟันต่างหากที่ช่วยอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นอยู่นั้นหายไป หากไม่มีวิธีนี้หลายคนอาจต้องทนทุกข์กับอาการอันเนื่องจากปัญหาในช่องปากได้ ในวันนี้เพื่อให้คลายความกลัวลงบ้างกับการไม่รู้เรามาเรียนรู้เรื่องของการรักษารากฟันกันดีกว่า

 

ทำไมเราจะต้องรักษารากฟัน

ที่เราต้องรักษารากฟันก็เพราะว่าเราปล่อยให้ฟันผุเป็นเวลานานโดยไม่ทำการรักษาหรืออุดฟัน ณ เวลานั้น ทำให้เกิดการลุกลามของโรคฟัน ซึ่งทำลายฟันมากขึ้นจนถึงชั้นโพรงประสาทฟัน มีการอักเสบและมีฝีหรือถุงหนองที่ปลายรากฟัน คนไข้จะมีอาการปวดแบบทรมาน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งของเชื้อโรคที่คอยบั่นทอนสุขภาพร่างกายให้อ่อนแออีกด้วย

เพราะฉะนั้นทางเลือกที่เหลืออยู่ของฟันที่ผุมากดังกล่าว จึงต้องรักษาด้วยการรักษารากฟัน หรือในบางครั้งอาจจะต้องพิจารณาถอนฟันก็เป็นไปได้ งานรักษารากฟันเป็นงานที่ค่อนข้างลำบาก ยิ่งตรงฟันกรามซึ่งมีถึง 3-4 รากต่อซี่ด้วยแล้ว เพื่อให้ง่ายต่อการรักษาเมื่อเกิดอะไรขึ้นหรือรับรู้ถึงอาการควรรีบมาหาหมอฟันทันที

 

หากมารักษารากฟันช้าจะเป็นอย่างไร

หากคุณปล่อยฟันผุที่เป็นปัญหาไว้นานเกินไป แล้วค่อยมาหาทันตแพทย์ ถึงแม้อยากจะรักษาฟันไว้ บางทีอาจสายเกินไป อาจต้องใช้การรักษาด้วยการถอนฟันเท่านั้น ดังนั้น เรื่องใกล้ตัวขนาดนี้ต้องหมั่นตรวจเช็คและพาตัวเองไปหาทันตแพทย์จะได้รักษาได้ทัน ยึดหลักง่าย ๆ คือ มาเร็วยิ่งดี ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนาน

 

วิธีรักษารากฟันที่เข้าใจง่าย      

สำหรับวิธีรักษารากฟันนั้น หากทันตแพทย์ตรวจแล้วพบว่าฟันของคุณมีการติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน คุณหมอจะทำการรักษาให้โดยการกรอกำจัดรอยผุออกทั้งหมด รวมถึงการกำจัดเนื้อฟันที่ติดเชื้อในคลองรากฟัน แล้วใส่ยาประเภทแคลเซียมไฮดรอกไซด์ เมื่อคลองรากฟันสะอาดดีแล้ว ทันตแพทย์ก็จะทำการอุดรากฟันด้วยวัสดุทางทันตกรรม จากนั้นจึงพิจารณาทำการบูรณะตัวฟันตามแผนการรักษาที่วางไว้ต่อไป

 

การรักษารากฟันมีวิธีการที่สำคัญดังนี้

ทันตแพทย์จะทำการกรอกำจัดรอยผุ จากนั้นกรอฟันเพื่อหาคลองรากฟันที่อยู่ต่อจากโพรงประสาทจนถึงปลายรากฟัน จากนั้นจะทำการขยายคลองรากฟันให้ใหญ่ขึ้นแล้วใช้น้ำยาล้าง ซับจนแห้งจึงใส่ยาฆ่าเชื้อโรคลงไป หลังจากนั้นจะทำการปิดโพรงประสาทฟันด้วยการอุดด้วยวัสดุอุดชั่วคราว เพื่อให้ยาออกฤทธิ์เป็นระยะเวลา 3-7 วัน แล้วทำการล้างและขยายคลองรากฟันเพื่อเปลี่ยนยาฆ่าเชื้อโรคใหม่ จากนั้นอุดปิดโพรงประสาทฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราวอีกครั้ง อาจทำแบบนี้ซ้ำประมาณ 4-5 ครั้ง จนกว่าหนองจะแห้ง ปราศจากเชื้อโรคและสิ่งสกปรกอื่นใด คุณหมอจะทำการอุดปิดโพรงประสาทฟันถาวรให้ โดยอุดตั้งแต่ปลายรากฟันจนถึงพื้นโพรงประสาทฟันและปิดทับด้วยวัสดุประเภทซีเมนต์ อุดฟันถาวรด้านบน เพื่อรอดูอาการ เมื่อแน่ใจดีแล้วว่าไม่พบการล้มเหลวของการรักษารากฟัน ทันตแพทย์ก็จะทำการรักษาตามแผนการรักษาที่วางไว้ต่อไป

 

ข้อคิดในการรักษารากฟัน

การรักษารากฟันดีตรงที่ว่าสามารถเก็บรักษาฟันไว้ใช้งานต่อไปได้ ซึ่งดีกว่าการใส่ฟันปลอม เพราะฟันที่ได้รับการรักษารากฟันแล้วจะเหมือนกับฟันซี่อื่น ๆ ที่มีเบ้ากระดูกยึดให้ฟันแน่นมั่นคงและแข็งแรง เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีบางทีอาจลืมไปเลยว่าตนเองเคยได้ไปทำการรักษารากฟันมา นอกจากนี้ในเรื่องราคาค่าใช้จ่ายถึงแม้ต้องจ่ายมากในการรักษา แต่ถ้าเปรียบเทียบกับระยะเวลาใช้งานและความรู้สึกเหมือนฟันจริง ก็นับว่าคุ้มค่าอยู่มาก เรื่องของฟันในช่องปากนี้ทำอย่างไรก็ได้ให้ฟันอยู่ครบและมีสุขภาพดี เพราะหากคุณปวดฟันแม้เพียงระยะหนึ่งก็หมายถึงความลำบากในการใช้ชีวิตที่ไม่สามารถยิ้มกับผู้คนหรือรับประทานอาหารได้สะดวกตราบใดที่ยังปวดฟันอยู่อย่างนั้น

 

หลักการง่าย ๆ ในการถนอมรักษาสุขภาพฟันให้แข็งแรงนั้นก็คือ เราต้องหมั่นตรวจเช็คอาการที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะรู้สึกปวด รู้สึกเสียวฟัน มิใช่เพียงแต่หายาแก้ปวดหรือยาแก้อักเสบกินเพื่อระงับอาการแล้วปล่อยล่วงเลยไป การรักษารากฟันก็เป็นหนึ่งในการรักษา ยังมีการรักษาทางทันตกรรมอีกมากมายซึ่งท้ายสุดแล้วก็เพื่อให้เราได้รับสิ่งที่ดีที่สุด สะดวกในการดำรงชีวิตและช่วยเสริมบุคลิกและความมั่นใจ

 

หากใครที่กำลังมองหาว่าจะไปรักษารากฟันที่ไหนนั้น ก็ไม่ยากเลยเพียงเลือกคลินิกทันตกรรมที่มีอยู่มากมายในอินเตอร์เน็ตขึ้นมาสัก 2 – 3 แห่ง แล้วลองเปรียบเทียบราคาและคุณภาพการให้บริการดู นอกจากนี้อาจโทรไปสอบถามเจ้าหน้าที่หากมีข้อสงสัยใด ๆ แล้วทำการเก็บข้อมูลเพื่อที่คุณจะได้วางแผนงบประมาณ วางแผนในเรื่องของเวลา การเดินทาง อาจจะเน้นใกล้บ้าน หรือใกล้ที่ทำงาน เพราะการรักษารากฟันต้องไปตามนัดจนกว่าจะแล้วเสร็จ

 

เรื่องของสุขภาพฟันเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องทำให้เขามีความแข็งแรง การรักษารากฟันจะช่วยให้ฟันของคุณกลับมาแข็งแรงใช้งานได้เป็นปกติอีกครั้ง และอย่าลืมหมั่นไปพบแพทย์ทุก ๆ 6 เดือน เพื่อสุขภาพฟันที่ดีไปตลอดชีวิต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ย้อนกลับด้านบน