สะพานฟัน

สะพานฟัน

 

เมื่อพูดถึงสะพานฟันหลายท่านถึงกับงงอย่างแน่นอน เพราะว่าในตำราก็ไม่มีสอน บางคนอาจจะได้ยินก็ตอนที่ไปหาหมอฟันนี่ล่ะ แต่ก็มีหลายคนที่ได้ทำสะพานฟันแล้ว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของทันตแพทย์ แล้วสะพานฟันคืออะไร เหมือนสะพานข้ามคลองหรือเปล่า เราลองมาดูความหมายของสะพานฟันกัน

 

ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ สะพานฟันก็คือ ฟันปลอมชนิดติดแน่น คำว่าติดแน่นก็หมายความว่าใส่แล้วใส่เลยไม่ต้องถอดเข้าถอดออก ถ้าเป็นแบบนี้เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะชอบ โดยสะพานฟันจะติดถาวรเหมือนฟันแท้ของเรานี่ล่ะ ลักษณะของมันจะเหมือนฟันธรรมชาติเลย ฟันปลอมโดยทั่วไปจะมีตะขอมีแผ่นเหงือกแต่สะพานฟันได้ขจัดสิ่งเหล่านี้ออกไป ทำให้การใช้ชีวิตของคุณง่ายขึ้นเยอะเลย

 

วิธีการที่น่ารู้ของการใส่สะพานฟัน

สำหรับวิธีการใส่สะพานฟันนั้น คุณหมอจะกรอฟันซี่ข้าง ๆ ของฟันที่ถูกถอนไปแล้ว เพื่อใช้เป็นหลักยึดสะพานฟัน หลายคนไม่อยากถูกกรอฟันเนื่องจากเสียดายเนื้อฟันก็ด้วยเหตุนี้ แต่นี่เป็นวิธีการของสะพานฟัน จากนั้นคุณหมอจะทำการพิมพ์ปากของคุณ เพื่อส่งไปทำสะพานฟัน และจะมีการนัดให้คุณมาในครั้งหน้า เพื่อจะลองดูสะพานฟันที่ทำมาว่าพอดีกับปากหรือยัง หากพอดีแล้วคุณหมอจะทำการยึดสะพานฟันด้วยซีเมนต์ทางทันตกรรม เพียงเท่านี้คุณก็สามารถมีฟันใหม่สำหรับใช้งานได้ต่อไป

 

การดูแลสะพานฟันให้ใช้งานได้ยาวนาน

ในเรื่องของการทำฟันแล้วเชื่อว่าหลายคนไม่อยากเดินเข้าเดินออกคลินิกบ่อยครั้ง เพราะแม้แต่ในช่วงทำสะพานฟันที่ต้องนอนอ้าปากนิ่ง ๆ นั้นคงไม่ค่อยมีใครชอบเป็นแน่ พลางนึกในใจว่าเมื่อไรจะเสร็จเสียที ดังนั้น เมื่อทำสะพานฟันแล้วก็ต้องดูแลสะพานไม่ให้ชำรุดไปก่อนเวลาอันควร โดยการทำความสะอาดฟันอย่างถูกวิธี เพื่อให้อายุของสะพานฟันใช้งานนานขึ้น โดยมีวิธีทำความสะอาดทั่วไปตามที่มีการแนะนำกันมา เช่น การแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร การใช้ไหมขัดฟัน เป็นต้น เหตุที่ต้องดูแลอย่างใส่ใจก็เพราะว่าสะพานฟันไม่ใช่ฟันธรรมชาติ มันครอบอยู่บนฟันธรรมชาติ หากแปรงฟันไม่ดีแล้วล่ะก็จะทำให้เกิดการผุตรงบริเวณรอยต่อของสะพานฟันกับฟันแท้ของเราได้  นอกจากนี้ควรหมั่นไปพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือน เพื่อเช็คสภาพช่องปากโดยทั่วไป และเช็คการผุหรือรอยรั่วบริเวณสะพานฟัน รวมถึงการได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมจากทันตแพทย์ว่าควรดูแลสะพานฟันอย่างไรให้ถูกวิธีเป็นการเฉพาะรายไป

 

การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้ารับทำสะพานฟัน

ก่อนไปคลินิกเพื่อทำสะพานฟัน คุณควรเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม อย่าให้ท้องหิวหรืออิ่มเกินไป ไม่ควรกลัวหรือวิตกกังวล ควรคิดเสียว่าการทำสะพานฟันจะทำให้คุณใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีฟันครบทุกซี่อย่างสมบูรณ์ เพียงใช้เวลาไม่นานในการนอนบนเตียงทันตกรรม ระหว่างการทำสะพานฟันคุณควรผ่อนคลายร่างกายไม่ต้องเกร็งและหยุดคิดเรื่องที่ทำงานหรือที่บ้านไว้ก่อน แล้วโฟกัสมาที่ปากของคุณที่จะต้องอ้าอย่างตั้งใจ นับว่าเป็นการให้ความร่วมมือกับทันตแพทย์เป็นอย่างดี ทำให้การทำงานของคุณหมอเป็นไปอย่างราบรื่นและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลดีต่อตัวคุณเองจะได้เสร็จไวไม่เนิ่นช้าออกไป

 

หลังจากทำสะพานฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณต้องบอกกับตัวเองว่า ฉันจะดูแลสะพานฟันอย่างดีที่สุดจะกินอาหารก็เลือกกินและจะหมั่นคอยทำความสะอาดฟันอยู่บ่อย ๆ อาจกำหนดเป็นทุกครั้งหลังอาหาร หรือใช้ไหมขัดฟันทุกวันเป็นต้น

 

สะพานฟันก็เหมือนกับสะพานทั่วไปที่ต้องได้รับการดูแลตรวจตราอยู่เสมอว่ายังแข็งแรงดีอยู่หรือไม่หากมีการชำรุดเสียหายก็ต้องรีบซ่อมแซมโดยด่วน เช่นกันกับสะพานฟันที่ต้องให้คุณหมอคอยตรวจเช็คว่ามีการผุการรั่วตรงจุดไหน ซึ่งจะรู้ได้คุณก็ต้องพาตัวเองไปพบทันตแพทย์เป็นประจำหรืออย่างน้อยก็ 6 เดือนครั้งนั่นเอง

 

การสอบถามราคาสะพานฟัน

หลายคนสอบถามว่าราคาสะพานฟันเท่าไร ซึ่งผู้ที่จะให้คำตอบดีที่สุดเห็นจะเป็นคลินิกทันตกรรมแต่ละแห่ง โดยอิงการรักษาในแต่ละบุคคลด้วย เมื่อคุณได้ทราบราคาสะพานฟันแล้วควรเปรียบเทียบราคาแต่ละคลินิกว่าแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด และทำไมจึงแตกต่างกัน ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจเลือกคลินิกได้อย่างคุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงระยะทางในการเดินทางมารักษาด้วยว่าสะดวกหรือไม่ไกลหรือเปล่า เพราะหากค่ารักษาถูกกว่าแต่การเดินทางไม่สะดวกอาจจะต้องตัดสินใจใหม่อีกครั้ง เป็นต้น

 

สะพานฟันเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคุณ ที่จะมีฟันใช้งานได้ตามปกติและมีความสะดวกไม่ต้องถอดเข้าถอดออกเหมือนฟันปลอมทั่วไป เมื่อทำสะพานฟันแล้วควรใส่ใจดูแลอย่างสม่ำเสมอ โดยคิดอยู่ตลอดเวลาว่าถ้าดูแลไม่ดีจะเกิดปัญหากับสะพานฟันได้ การดูแลเป็นอย่างดีจะช่วยยืดอายุการใช้งานออกไป ทำให้คุณใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เพราะหมดปัญหาเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ ในช่องปาก เรื่องสุขภาพฟันสำคัญมากหากใครดูแลเป็นอย่างดีก็ได้ผลตอบแทนที่ดีคือความสุขในการขบเคี้ยวและรอยยิ้มพิมพ์ใจค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ย้อนกลับด้านบน