รากฟันเทียม

รากฟันเทียม

%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%9f%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a12

ปัจจุบัน มีรากฟันเทียมผลิตออกมาจากหลากหลายบริษัท ส่วนใหญ่คลินิกทันตกรรมจะเลือกใช้รากฟันเทียมที่มีมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง และมีบริการหลังการขายที่ดี ซึ่งมีเพียงไม่กี่ยี่ห้อที่มีการศึกษาในระยะยาวเกี่ยวกับรากเทียมของบริษัทนั้นๆ  และจะต้องมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไว้พร้อมสำหรับเรียกใช้ยามฉุกเฉินนับเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากจำเป็นต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไรบางเกี่ยวกับรากฟันเทียม ก็จะสามารถทำได้ง่ายขึ้น

 

รากฟันเทียม แต่ละชนิดต่างกันอย่างไร ?

ปกติรากฟันเทียมจะมีความยาวตั้งแต่ 6–15 มิลลิเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-5 มิลลิเมตร ซึ่งรากฟันเทียม ทำมาจากวัสดุที่เข้ากันได้ดีกับร่างกายของเราเพื่อเป็นการใช้สำหรับทดแทนฟันที่หายไป รากฟันเทียมโดยทั่วไปในยุคปัจจุบันอาจจะเป็นเกลียวหรือทรงกระบอกที่ทำมาจากโลหะไทเทเนียมซึ่งเป็นโลหะที่พิเศษ เพราะมันจะยึดติดกับกระดูกโดยไม่มีชั้นใดๆ มาขวางกั้น  และการที่รากฟันเทียมไทเทเนียมยึดแน่นกับกระดูกนี้ เรียกกันว่า osseointegration   เป็นข้อดีของไทเทเนียมคือ คนส่วนใหญ่จะไม่เกิดอาการแพ้ ร่างกายยอมรับได้ดี ไม่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อช่องปาก เพราะคุณสมบัติที่เข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อในร่างกายมนุษย์นี้ จึงทำให้มีการใช้ไทเทเนียมกันอย่างกว้างขวางในทางการแพทย์

 

การใส่รากฟันเทียมยากหรือไม่?

การใส่รากฟันเทียมจะต้องมีการวางแผนการรักษาที่ดีและครอบคลุมก่อนในขั้นแรก ซึ่งภาพถ่ายรังสีและแบบจำลองฟันที่ได้จากการพิมพ์ปากนั้น จะเป็นตัวช่วยที่ดีในการประเมินปริมาณกระดูกในแง่ของความกว้างและความลึก ทำให้สามารถวางแผนสำหรับเลือกขนาดของรากฟันเทียมที่เหมาะสมได้ และในการทำรากฟันเทียม ถือเป็นกระบวนการทางศัลยกรรมที่ทำภายใต้ภาวะปลอดเชื้อ จะใช้เวลาประมาณ 45-90 นาที โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด ขั้นตอนคร่าวๆ โดยหลังจากที่เหงือกและเนื้อเยื่อหมดความรู้สึกจากยาชาเฉพาะที่แล้ว ทันตแพทย์ก็จะเปิดเหงือกออกอย่างระมัดระวัง แล้วจึงทำการฝังรากเทียมตามขนาดที่ได้เลือกจากการวางแผนการรักษามา แล้วเย็บปิดเหงือกด้านบนเอาไว้รอเวลาให้แผลหาย  ระหว่างนี้ทันตแพทย์อาจใส่ฟันปลอมชั่วคราวให้ใช้งานไปก่อน

 

การใส่ฟันลงไปบนรากฟันเทียม

เมื่อถึงเวลาที่รากฟันเทียมตรงส่วนของรากมีการเชื่อมติดแน่นดีกับกระดูกโดยรอบแล้ว ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 6-12 สัปดาห์ ทันตแพทย์ทำการเปิดเหงือกเฉพาะบริเวณส่วนกลางของรากฟันเทียม เพื่อเริ่มขั้นตอนการทำครอบฟันลงไปบนรากฟันเทียมที่อยู่ภายในกระดูก โดยกระบวนการประกอบไปด้วยการพิมพ์ปากตามแต่ระบบของรากฟันเทียม แล้วส่งงานพิมพ์ไปแล็บ เมื่อได้ชิ้นงานฟันปลอม ก็จะนำมาใส่ลงไปบนรากฟันเทียมได้ทันที  ซึ่งการใส่รากฟันเทียมจะทำให้การใส่ฟันติดแน่นนั้นไม่ต้องมีการกรอฟันดีๆข้างเคียงเพียงเพื่อจะใส่ฟันติดแน่นเหมือนการทำสะพานฟัน  นอกจากนี้รากฟันเทียมยังสามารถป้องกันมิให้กระดูกเบ้ารากฟันละลายไปเนื่องจากการถอนฟันแล้วปล่อยสันเหงือกให้หายเองตามปกติได้

 

ทำรากฟันเทียมจะเจ็บปวดมากหรือไม่ ?  

การผ่าตัดฝังรากฟันเทียมจะใช้ยาชาเฉพาะที่ และจะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด หลังจากการฝังรากฟันเทียม จะมีการเจ็บแผลบ้างเล็กน้อยเป็นธรรมดาของแผลผ่าตัด ซึ่งจะหายได้เองในไม่กี่วัน บวกกับการใช้ยาแก้ปวดสามารถช่วยให้หายได้ บางทีอาจมีการบวมเกิดขึ้นและอาจบวมได้นานประมาณ 3-4 วัน แต่จะหายเป็นปกติได้โดยเร็ว

 

การฝังรากฟันเทียมจะมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ ?

ในรากฟันเทียมที่ทำโดยทันตแพทย์ด้านศัลยกรรมช่องปากผู้ชำนาญ จะสามารถใช้งานได้ยาวนานมากถึง 90% ซึ่งปัจจุบัน มีรายงานถึงอัตราความสำเร็จในการรักษาทางทันตกรรมรากเทียมว่าสูงขึ้น แต่ถึงแม้จะมีการวางแผนการรักษาและดำเนินการอย่างระมัดระวังดีแค่ไหน ผลการรักษาที่ล้มเหลวอาจสามารถเกิดขึ้นได้  หากรากฟันเทียมหรือกระดูกที่เติมลงไปมีการสูญเสียไปจากการที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย หรืออาจเพราะรับแรงมากเกินไป

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สูญเสียรากฟันเทียม คือการมีสุขภาพช่องปากที่ไม่ดี , เป็นโรคกระดูกพรุนรุนแรง ,สูบบุหรี่จัด , เป็นโรคเบาหวานที่ขาดการควบคุม ซึ่งมีการศึกษาถึงความคงทนของรากฟันเทียมปรากฏว่า หากคุณมีสุขภาพช่องปากและการดูแลที่ดี และมีการตรวจสุขภาพปากและฟันอย่างสม่ำเสมอจะทำให้รากฟันเทียมสามารถอยู่คงทนได้ตลอดอายุการใช้งาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ย้อนกลับด้านบน