การรักษาฟันสำหรับเด็ก

การรักษาฟันสำหรับเด็ก

การทำฟันในเด็กหากผู้ปกครองพาเด็ก ๆ มาหาทันตแพทย์ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ย่อมดีกว่าพาลูกมาตอนที่มีปัญหาในช่องปากแล้ว เพราะเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความกลัวหมอฟันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงขึ้นอยู่กับวิธีที่ผู้ปกครองจะใช้กับบุตรหลานเพื่อทำให้เขาให้ความร่วมมือในการรักษาแต่โดยดี

การเตรียมตัวลูกน้อยก่อนมาทำฟันเด็ก

ในการทำฟันในเด็ก เพื่อให้ง่ายขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างความคุ้นเคยให้กับเด็กตั้งแต่ยังเยาว์ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในเรื่องทันตสุขภาพให้แก่ลูก โดยอาจเริ่มตั้งแต่เด็กเริ่มมีฟันขึ้น โดยฟันน้ำนมจะขึ้นครบเมื่อเด็กอายุประมาณ 2 ขวบ-2 ขวบครึ่ง ซึ่งเป็นวัยที่สามารถฟังคำสั่งและคำอธิบายของหมอได้พอเข้าใจ การไปพบหมอแผนกทำฟันเด็กตั้งแต่เล็ก ๆ ก็เพื่อให้เด็กรู้จักทันตแพทย์ ให้เห็นห้องทำงานของคุณหมอ รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำฟัน เพื่อให้เด็กเกิดความคุ้นเคยและสื่อสารเข้าใจตรงกัน

ไว้วางใจคุณหมอทำฟันเด็ก

คุณหมอที่ทำฟันเด็กมักมีเทคนิคการพูด การรักษาที่ทำให้เด็กไม่รู้สึกกลัว ทำให้เด็กสนุกและเข้าใจว่าการมาหาหมอฟันไม่ได้มีอะไรที่เจ็บหรือน่ากลัวเลย ส่วนใหญ่แล้วในการรักษาครั้งแรก จะเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ ก่อน เช่น ขัดฟัน เคลือบหลุมร่องฟันซี่ที่ยังไม่ผุ การเคลือบฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันฟันผุ เป็นต้น การพาเด็กมาหาหมอฟันโดยที่เด็กยังไม่มีฟันผุรุนแรงหรือเจ็บปวดย่อมดีกว่ามาตอนที่อาการเริ่มชัดเจนแล้ว ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่พามาหาหมอทำฟันเด็กตั้งแต่เนิ่น ๆ และมีการรักษาเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังกล่าว เมื่อถึงคราวที่เด็กต้องมาในครั้งหน้า เด็กจะเกิดความคุ้นเคยและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

พาลูกมาทำฟันตั้งแต่แรกเริ่มย่อมดีกว่า

การพาลูกน้อยมาที่แผนกทำฟันเด็กแต่เนิ่น ๆ ย่อมเป็นการดี หากเด็กเริ่มมีฟันผุอย่าปล่อยทิ้งไว้นาน ให้ผู้ปกครองรีบพาเด็กมาพบทันตแพทย์ทันที การให้การรักษาฟันที่เริ่มผุย่อมเป็นผลดี เพราะการรักษาจะไม่ยุ่งยากมากและใช้เวลาไม่นานก็เสร็จ แต่อย่างไรก็ตามการพาเด็กมาพบคุณหมอที่ทำฟันเด็กในครั้งแรก อย่าเพิ่งคาดหวังว่าคุณหมอจะรักษาฟันให้ลูกทันที ต้องดูว่าเด็กยอมให้ทำแต่โดยดีหรือไม่ ถ้าเด็กยังมีความกลัวอยู่ ทันตแพทย์จะต้องมีการเตรียมความพร้อมของเด็กก่อน โดยอาจจะแนะนำเครื่องมือ วิธีการรักษา โดยใช้การเปรียบเทียบกับสิ่งที่เด็กรู้จัก เพื่อให้เด็กผ่อนคลายมากขึ้น บางทีคุณหมออาจจะลองใช้เครื่องมือกับฟันซี่ที่ไม่มีปัญหา เช่น เขี่ยฟัน ขัดฟัน ก่อน เพื่อเป็นการเตรียมเด็กให้เกิดความคุ้นเคยในการมารักษาในคราวต่อไป

อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าทำไมต้องมีการทำฟัน

การอธิบายให้ลูกฟังอยู่เสมอเกี่ยวกับเรื่องฟันก่อนถึงวันนัดย่อมเป็นผลดี เมื่อลูกพบทันตแพทย์จะทำให้ลูกให้ความร่วมมือเพราะคุณได้เตรียมลูกมาล่วงหน้าแล้ว คุณอาจบอกวิธีที่คุณหมอจะทำการรักษา เช่น หนูมีฟันผุเป็นรู จะต้องรีบอุดฟันซี่นี้โดยเร็ว หนูจะต้องทำอย่างไรเวลาเข้าห้องทำฟันและคุณหมอจะทำอะไรบ้างเมื่อเด็กได้รู้ก่อนและเข้าใจการรักษาก็จะง่ายและใช้เวลาน้อย

หากเด็กไม่ยอมทำฟัน ทันตแพทย์จะทำอย่างไร

ในการทำฟันเด็กนั้น แน่นอนว่าย่อมมีเคสที่มีปัญหามาก ๆ อันเกิดจากตัวผู้ปกครองหรือจากตัวเด็กเอง บางครั้งผู้ปกครองก็มีงานยุ่งมากทำให้ไม่มีเวลาในการใส่ใจสุขภาพฟันของลูก จนกระทั่งอาการได้ลุกลามมากถึงกับปวดฟัน ทานข้าวไม่ได้ มีแก้มบวม เมื่อถึงจุดนี้การรักษาจะมีความยุ่งยากและซับซ้อนมาก นอกจากนี้การจะขอให้เด็กให้ความร่วมมือก็ค่อนข้างยาก ยิ่งถ้าเป็นการรักษาครั้งแรกด้วยแล้ว เด็กย่อมมีความตื่นตัวและเกิดการไม่ยอมเอาดื้อ ๆ แต่อย่างไรก็ตามความจำเป็นในการรักษาเพื่อป้องกันโรคลุกลาม จำเป็นต้องทำ เช่น ถอนฟันออกไป เพื่อให้อาการปวดและอักเสบทุเลาลง ก็ต้องใช้การบังคับ โดยคุณหมอจะใช้ผ่าห่อตัวเด็กเพื่อป้องกันการดิ้นและเกิดอันตรายระหว่างทำการรักษาได้ ซึ่งผู้ปกครองก็ไม่ต้องกังวลใจเพราะเพื่อผลการรักษาและใช้เวลาไม่นานมาก ทุกอย่างก็จะเรียบร้อยดี

หลังทำฟันแล้วควรให้คำแนะนำที่ดี

การสอนและแนะนำเด็กหลังการรักษาควรทำทันทีเพราะเด็กเพิ่งได้รับประสบการณ์ในการทำฟันมาหมาด ๆ ย่อมฝังความจำที่ดีในการยอมและการดูแลสุขภาพของฟันตนเองตั้งแต่ยังเล็ก  สิ่งที่ผู้ปกครองไม่ควรทำคือ การดุหรือขู่เด็กซ้ำจะยิ่งทำให้ทุกครั้งที่มารักษาก็ยากเหมือนเดิม เพราะแน่นอนว่าการมาหาหมอฟันต้องทำไปตลอดจนกว่าเด็กจะโต อย่างน้อยมาตรวจฟันทุก 6 เดือน ก็เป็นการป้องกันฟันผุและอาการต่าง ๆ ได้ดีอีกทางหนึ่ง

เด็กเล็ก ๆ จะมีสุขภาพฟันและทัศนคติที่ดีต่อหมอฟันได้ ก็ต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากผู้ปกครอง ควรหมั่นพาเด็กไปหาทันตแพทย์ทำฟันตามนัด และอธิบายให้ลูกฟังถึงผลดีและผลเสียจะทำให้เด็กให้ความร่วมมือและมีสุขภาพฟันดีตลอดไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ย้อนกลับด้านบน