ขูดหินปูน
เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยเข้ารับการขูดหินปูนกันมาบ้างแล้ว หลายคนอาจขูดหินปูนปีละครั้ง หรือบางคนปีละ 2 ครั้ง หรือหากบางคนปล่อยปละละเลยหน่อย ก็อาจพาตัวเองไปขูดหินปูนนาน ๆ ครั้ง ซึ่งความถี่ในการขูดหินปูนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะดูแลความสะอาดของฟันได้ดีมากน้อยกว่ากัน เพราะการทำความสะอาดที่บ่อยครั้งอย่างถูกวิธีก็มีส่วนช่วยให้การเกิดคราบหินปูนช้าเร็วต่างกันด้วย แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้จะทำความสะอาดฟันดีอย่างไร แต่ก็หลีกหนีไม่พ้นคราบหินปูนที่เรามองไม่เห็นอยู่ดี ซึ่งก็ต้องอาศัยทันตแพทย์ในการช่วยขูดออกให้ ควรหมั่นไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจสุขภาพฟันหรือขูดหินปูนหากพบว่าถึงเวลาและน่าจะขูดได้แล้ว
คราบหินปูนเกิดจากอะไร?
การเกิดคราบหินปูนที่ทำให้เราทั้งหลายต้องพาตัวเองไปขูดหินปูนนั้น น่าสนใจมากๆ เพราะถ้าเรามีความรู้เรื่องนี้ จะได้มีความเข้าใจและดูแลทำความสะอาดฟันให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยหินปูนที่เราเรียกกันจนติดปากนั้นก็คือ แผ่นคราบจุลินทรีย์ที่แข็งตัว เพราะมีแร่ธาตุจากน้ำลายเข้าไปตกตะกอน ตัวแผ่นคราบจุลินทรีย์เองนั้น
ซึ่งลักษณะแผ่นคราบจุลินทรีย์นั้น จะมีลักษณะสีขาวขุ่นและนิ่ม ซึ่งตัวนี้เองที่เป็นแหล่งอาศัยของเชื้อโรคที่ติดอยู่บนตัวฟัน ถึงแม้ว่าคุณจะบ้วนน้ำแรง ๆ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรได้เลย ซึ่งกระบวนการเกิดคราบจุลินทรีย์นั้น เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่คุณแปรงฟันไปแล้วเพียง 2-3 นาที เท่านั้น หลังจากนั้นเมือกใสของน้ำลายจะเข้ามาเกาะที่ตัวฟัน แล้วเจ้าตัวเชื้อโรคที่มีจำนวนมากในปากก็จะพากันมาเกาะทับถมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ที่เราเริ่มสังเกตเห็นได้นั่นเอง
เจ้าคราบจุลินทรีย์นี้เองที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้คุณเป็นโรคฟันผุและโรคปริทันต์ น้ำตาลจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปจะเป็นอาหารของจุลินทรีย์ด้วย ซึ่งจะเกิดการสร้างกรดและสารพิษขึ้น ตัวกรดนี้จะไปทำลายเคลือบฟัน จึงทำให้ฟันผุ ส่วนตัวสารพิษจะทำให้เกิดการอักเสบของเหงือกและเป็นโรคปริทันต์ตามมาหากปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป หากคุณทำความสะอาดฟันไม่ดีพอเจ้าคราบจุลินทรีย์นี้จะสะสมมากขึ้นทำทำอันตรายต่อเหงือกและฟันในที่สุด
ทุกคนควรได้รับการขูดหินปูน
การขูดหินปูนมีความจำเป็นต่อทุกคน เราสามารถมองเห็นคราบหินปูนที่โผล่พ้นขอบเหงือกได้ แต่ก็มีคราบหินปูนที่อยู่ใต้เหงือกเราไม่สามารถมองเห็นได้ คราบหินปูนเมื่อเกิดขึ้นแล้วเราไม่สามารถกำจัดออกด้วยตัวเองได้ ทันตแพทย์เท่านั้นที่จะสามารถกำจัดหินปูนให้เราได้ โดยทันตแพทย์จะทำการขูดหินปูนออกให้ทั้งหมดทั้งเหนือเหงือกและใต้เหงือก ด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงต้องใส่ใจสุขภาพปากและฟันของตัวเองด้วยการพาตัวเองไปขูดหินปูนเป็นประจำ
เวลาที่ใช้ในการขูดหินปูนแต่ละครั้ง
ปกติทันตแพทย์จะใช้เวลาในการขูดหินปูนประมาณ 30-45 นาที ขึ้นอยู่กับความมากน้อยของหินปูน ความแข็งของหินปูน และความลึกของร่องลึกปริทันต์ แต่บางรายอาจต้องนัดเพิ่มอีก ถ้ามีหินปูนมาก จนมาสามารถขูดได้เสร็จในครั้งเดียว นั่นหมายความว่า หากคุณดูแลทำความสะอาดฟันดีหินปูนน้อย เวลาในการขูดหินปูนก็น้อยตาม แต่หากสะสมไว้มากนานจนหินปูนแข็งมาก ความยากก็ยิ่งมากขึ้น อาจต้องนัดเพื่อทำการขูดหินปูนหลายครั้งจนกว่าจะครบทั้งปาก
ขูดหินปูนเจ็บหรือไม่?
การขูดหินปูนไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด อาจทำให้รู้สึกเสียวฟันบ้าง และเจ็บบริเวณเหงือกในกรณีที่คุณมีหินปูนมาก นอกจากนี้อาจมีเลือดออกได้ นั่นเป็นเพราะการที่เหงือกอักเสบจากหินปูน แต่ก็ไม่ต้องกังวลอะไรเพราะอาการนี้จะหายได้เองหลังจากขูดหินปูนเสร็จแล้ว
เราควรขูดหินปูนทุกๆ 6 เดือน ซึ่งเป็นหนทางที่ดีในการป้องกันเหงือกอักเสบ หากคุณมาขูดหินปูนตามเวลาที่หมอนัด เวลามาขูดหินปูนจะไม่รู้สึกเจ็บแต่อย่างใด และเกิดผลดีตามมาทันทีโดยคุณจะรู้สึกได้ถึงความสะอาดและมีสุขภาพดีของเหงือกและฟัน กลิ่นปากจะหายไป
ขูดหินปูนที่ไหนดี?
สถานที่ขูดหินปูนนั้นมีหลายแห่งที่คุณสามารถเลือกได้ เช่น ศูนย์อนามัย โรงพยาบาลของรัฐ-เอกชน คลินิกทันตกรรม ซึ่งแต่ละที่ก็มีความแตกต่างกันในด้านราคา บรรยากาศและการเดินทางการสอบถามข้อมูลก่อน จะได้ข้อมูลที่ง่ายต่อการตัดสินใจ รวมถึงเวลาในการเปิดให้บริการเพราะแต่ละแห่งอาจเปิดให้บริการที่ต่างกัน
ลองตรวจเช็คตัวเองว่าได้เวลาไปขูดหินปูนหรือยัง หากนานจนจำไม่ได้ก็ลองสำรวจหินปูนในปากของตนเองดูว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยสามารถใช้ลิ้นลองสัมผัสดู และลองสำรวจเหงือกตนเองว่ามีอาการอักเสบหรือไม่ นอกจากนี้กลิ่นปากก็เป็นตัวบ่งบอกได้ในระดับหนึ่งว่าถึงเวลาที่คุณควรจะขูดหินปูนได้แล้ว การมีกลิ่นปากนั้นทำให้ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ คุณควรดูแลตนเองในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อสุขภาพในช่องปากที่ดีและเพื่อไม่เป็นการทำลายมิตรภาพจากกลิ่นอันไม่พึงประสงค์นั้น