ฟันคุด

ฟันคุด

ฟันคุดคืออะไร มีหลายคนที่ยังสงสัย มีคนเคยตั้งคำถามน่าสนใจ ทิ้งไว้ให้หาคำตอบว่าทำไม เขามีฟันแค่  28  ซี่เท่านั้น อายุก็มากพอที่ฟันแท้น่าจะขึ้นหมดปากแล้ว แต่มีบางคนที่ฟันขึ้นไม่ครบ 32  ซี่เหมือนกัน แล้วอีก 4 ซี่ที่เหลือมันหายไปไหน หรือว่าจะกลายเป็นฟันคุด  เพราะฟันธรรมชาติของคนเรามี 2 ชุด คือ ฟันน้ำนมที่เป็นฟันชุดแรก ส่วนสาเหตุที่เรียกว่าฟันน้ำนม ก็เพราะว่ามีสีขาวคล้ายน้ำนม มีทั้งหมด 20 ซี่ จะเริ่มขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6-8 เดือน และชุดที่สองคือฟันแท้ ซี่แรกขึ้นมาประมาณ 6 ขวบ ส่วนฟันคุดนั้น ปกติจะขึ้นมาตอนช่วงอายุ 18 ปี แต่ในบางรายก็ไม่ขึ้นซึ่งไม่มีใครบอกได้ บางคนอาจจะขึ้นมาแต่ไม่รู้ว่าเป็นฟันคุด และอาจไม่มีอาการปวดใดๆ ทั้งสิ้น แต่บางคนอาจขึ้นมาแล้วเกิดอาการปวดเลยก็มี ทำให้ต้องรีบหาทางรักษา

 

ฟันกราม 4 ซี่สุดท้ายจะกลายเป็นฟันคุดจริงหรือ

ฟันแท้มีทั้งหมด 3  ซี่ มีขนาดใหญ่และมีสีเหลืองมากกว่าฟันน้ำนม จะเริ่มขึ้นเมื่ออายุประมาณ  6 ปี และฟันแท้จะทยอยขึ้นจนครบ 28 ซี่ เมื่ออายุ 12-13 ปี สำหรับฟันกรามซี่สุดท้ายอีก 4 ซี่ โดยปกติจะขึ้นมาเมื่ออายุ 18 ปี ที่บางคนอาจจะไม่ยอมขึ้นหรือบางคนขึ้นมาได้บางส่วน เนื่องจากแนวการขึ้น มีซี่ฟันกรามด้านหน้าขวางอยู่ ซึ่งมีการพบว่าในปัจจุบันฟันกราม 4 ซี่สุดท้ายมักจะขึ้นไม่ได้และอาจกลายเป็นฟันคุด เพราะขากรรไกรของเรามีขนาดเล็กและแคบลง ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการบดเคี้ยวอาหารอ่อนไปหรือใช้แรงในการบดเคี้ยวน้อยลง

 

ฟันคุดเกิดจากอะไรกันแน่??

ฟันที่ไม่สามารถโผล่ขึ้นมาบนช่องปากได้ตามปกติ ก็คือฟันคุด ซึ่งอาจจะโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน ช่วงอายุที่พบฟันคุดได้คือช่วงประมาณ 17-25 ปี หลายคนอยู่ร่วมกับฟันคุดไปจนตายแบบที่ไม่เคยมีปัญหา ไม่ปวดฟันหรือปวดบ้างแต่ทนได้ แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องทุกข์ทรมานกับฟันคุด  การเกิดฟันคุดเพราะพื้นที่ของขากรรไกรไม่เพียงพอที่จะให้ฟันซี่นั้นขึ้นได้ตามปกติ อย่างการถูกกันจากฟันซี่ข้างเคียง โดยมีกระดูกหรือเหงือกคลุมอยู่หนาจนไม่สามารถโผล่ขึ้นมาได้เต็ม หรือไปมุดอยู่ในขอบล่างของกระดูกขากรรไกรล่าง ซึ่งฟันคุดที่พบบ่อย ส่วนใหญ่จะเป็นฟันกรามล่างซี่สุดท้าย รองลง มาคือฟันกรามบนซี่สุดท้าย และอีกตำแหน่งที่มักจะพบคือฟันเขี้ยว

 

รู้ได้อย่างไรว่าตัวเองมีฟันคุดหรือไม่

หากมีอาการเจ็บปวดของฟันคุด จะแสดงอาการอักเสบ บวม และเป็นหนองจนมีกลิ่นเหม็น ผู้ที่มีการอักเสบหรือติดเชื้อมักอ้าปากไม่ค่อยขึ้นและมีไข้หรือต่อมน้ำเหลืองโต  ส่วนผู้ปกครองควรสังเกตเด็กว่า ฟันแท้ซี่ไหนไม่ยอมขึ้นสักที สำหรับหนุ่มสาวก็ให้ลองสังเกตดูว่าฟันขึ้นครบ  32  ซี่หรือยัง ซึ่งการจะให้ทันตแพทย์ตรวจหรือถ่ายเอ็กซเรย์ดู จะทำให้รู้ได้ทันทีว่ามีฟันคุดหรือไม่ ถ้าหากมีก็ควรจัดการผ่าออก แม้ว่าจะยังไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ก็ตาม

 

เหตุผลที่ควรจะผ่าฟันคุด และควรผ่าเมื่อใด

การผ่าฟันคุดก็เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือก เพราะฟันคุดที่ขึ้นได้บางส่วนมักเป็นที่กักเก็บเศษอาหาร ทำให้ทำความสะอาดลำบาก ประกอบกับมีเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวดบวมและเป็นหนอง หากทิ้งไว้การอักเสบจะลุกลาม ซึ่งจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ง่าย มีอีกหลายคนที่ต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการที่มีการติดเชื้อจากฟันคุด หรือในช่วงที่ฟันกำลังพยายามจะขึ้นนั้น จะมีแรงดันจากฟันคุดทำให้กระดูกที่อยู่รอบๆ รากฟันหรือบริเวณรากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป หรือเพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก เพราะหากมีฟันคุดที่ทิ้งไว้นาน อาจกลายเป็นถุงน้ำแล้วโตขึ้น จนกลายเป็นเนื้องอกที่ทำลายฟันซี่ข้างเคียงและกระดูกรอบ ๆ บริเวณนั้น และสุดท้าย เพื่อป้องกันการผุของบริเวณซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันซี่ที่อยู่ติดกัน  เพราะเป็นซอกเล็กและแคบ อาจทำให้ทำความสะอาดได้ยาก ส่งผลทำให้มีเศษอาหารติดค้างอยู่ ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้ง  2  ซี่

 

การผ่าฟันคุดของคนหนุ่มสาวไม่ค่อยมีปัญหา เพราะแผลจะหายเร็วกว่า หากไปทำเมื่อมีอายุมากแล้ว อาจทำให้แผลหายช้า ผลแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดมีมากกว่า และความเสี่ยงก็มีมากกว่าโดยเฉพาะในรายที่มีโรคประจำตัว คนส่วนใหญ่จะมาผ่าฟันคุดก็ต่อเมื่อมีอาการ หากอยู่ระหว่างการอักเสบ ปวด เป็นหนอง และอ้าปากได้น้อยจะส่งผลทำให้การรักษายุ่งยากและมักเกิดปัญหาได้มากกว่าเมื่อยังไม่มีอาการ ดังนั้นถ้ารู้ตัวว่ามีฟันคุดที่ไม่สามารถขึ้นมาในช่องปากได้ ควรรีบมาทำก่อนที่จะมีอาการดังกล่าวข้างต้น

ย้อนกลับด้านบน